วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

20 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ ทีวีดิจิตอล (หรือเรียกให้ถูกต้องว่า "ดิจิตอลทีวี") ทึประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าใจง่ายขึ้นครับ

1. ทีวีดิจิตอล สามารถใช้เสาอากาศแบบเดิมที่ใช้กับ 3,5,7,9,11,NBT,TPBS เหมือนในปัจจุบันได้ แต่ถ้าใครถอดออกไปแล้วก็ไม่ต้องรีบซื้อ เพราะสามารถใช้เสาอากาศแบบ หนวดกุ้งได้เช่นกัน

2. สายอากาศ สำหรับทีวีดิจิตอล สามารถใช้แบบ ในบ้าน(หนวดกุ้ง) หรือ นอกบ้านก็ได้  เพราะการส่งระบบดิจิตอลมีแต่รับได้ กับรับไม่ได้เพราะระบบดิจิตอลคือ ( 0 กับ 1 ) จะไม่มีภาพเป็น ลายๆ เหมือนในทีวีระบบเก่า

3. ทีวีดิจิตอล แพร่ภาพ โดยการส่งสัญญาณภาพในคลื่นความถี่ได้ ใน SHF VHF และ UHF  แต่ที่ไทยดำเนินการเปลี่ยนผ่านจะรับสัญญาณระบบ UHF ดังนั้น ไม่ต้องใช้สายอากาศที่เป็นแผงใหญ่เหมือนระบบเก่า  VHF  ใช้สายอากาศที่เป็นแผงเล็กๆ ที่รับช่อง Thai TPBS กับ ช่อง 3 (ในระบบ UHF) ได้ก็สามารถรับระบบทีวีดิจิตอลได้เหมือนกัน  (แต่พื้นที่ มีความห่างจากเสาส่ง 100 กิโลเมตร ก็จำเป็นต้องเลือกตัวสายอากาศที่มีแผงยาวใหญ่ หรือ แบบที่พอเหมาะกับพื้นที่นั้นๆ เพียงแต่หน้ากว้างจะแค่กว่า  หากมีของระบบเก่า ก็ไม่จำเป็นต้องเอาลง เพราะเมื่อเปลี่ยนผ่านหมดแล้ว  ระบบอะนาล๊อคก็ต้องปิดตัวลง  ความถี่เหล่านั้นก็จะว่าง กสทช. ก็จะเอามาจัดสรรให้แพร่ภาพ ในระบบดิจิตอลได้  สายอากาศ แผงใหญ่ก็จะใช้ได้ (ถ้ามีอยู่แล้ว  ก็ใช้ของเดิม  ไม่ต้องทำอะไร   เว้นแต่  สายนำสัญญาณหมดอายุไข  ก็ต้องซ่อมแซม)

4. ทีวีดิจิตอลส่งระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบ Mpeg4 ทีวีทุกระบบรับได้ โดยใช้กล่องรับสัญญาณระบบ DVB-T2 หากทีวีของท่านมีช่อง HDMI ภาพที่ออกมาจะก็จะชัดกว่าการเสียบสาย AV เป็นอย่างมาก

5. ทีวีดิจิตอลส่งระบบ DVB-T2 ( Mpeg4 ) ดังนั้น ถ้ากล่องเป็นระบบ DVB-T ( Mpeg2 ) จะรับสัญญาณไม่ได้ (แต่ที่ทำขาย ณ.ปัจจุบันน่าจะเป็น Mpeg4 กันหมดแล้ว)

6. ทีวีระบบเก่า เอาสายจากเสาอากาศมาต่อที่ทีวีได้เลย แต่ ระบบเครื่องรับทีวีของไทยยังไม่รองรับระบบดิจิตอล จึงต้องมีกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 เช่นเดียวกับกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ก่อนที่จะต่อเข้าทีวีอีกที

7. กสทช มีกฎว่า ทุกช่องที่ออกอากาศทีวีดิจิตอล ต้องส่งผ่านดาวเทียมได้ด้วย ดังนั้น ใครมีกล่องรับสัญญาณดาวเทียมอยู่แล้วไม่ว่ายี่ห้อใดๆ สามารถรับได้แน่นอน เพียงแต่ช่องใหนที่เป็นช่อง HD ก็ต้องใช้ทีวีที่รองรับช่อง HD ได้ด้วยจึงจะสามารถรับได้!

8. ทีวีดิจิตอล ส่งสัญญาณระบบ UHF ดังนั้น แต่ละพื้นที่โดยเฉพาะต่างจังหวัด จะรับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน พื้นที่ใดสัญญาณอ่อนต้องมีเสาในการทวนสัญญาณ เพื่อให้แต่ละพื้นที่ไม่มีปัญหาในการรับชม  โดยความถี่จะเหมือนกันทั้งจากเสาสถานีส่ง และจากเสาสถานีทวนสัญญาณ ซึ่งต่างจะอะนาล๊อคที่ความถี่ใช้เหมือนกันไม่ได้

9. ทีวีดิจิตอลจะมีข้อดี ตรงที่ไม่ต้องติดจานดาวเทียม ซึ่งเข้าถึงบ้านเรือนทั่วไปได้มากกว่าการติดจานดาวเทียม

10. ทีวีดิจิตอล สามารถใช้ร่วมกับเครื่องรับแบบอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น DVB-T2+DVD , DVB-T2+ Android , DVB-S2+DVB-T2 , DVB-T2 for Car , …….

11. ทีวีระบบดิจิตอลในรถยนต์ ภาพก็จะชัดเหมือนติดจานดาวเทียมบนรถ ไม่มีภาพจะล้มเวลาผ่าน ต้นไม้ หรือ สิ่งกีดขวางต่างๆ และไม่ต้องห่วงเรื่องโดนขโมยจานที่ติดบนหลังคา (ใช้แค่เพียงเสาอากาศเล็กๆ)

12. ทีวีดิจิตอล แต่ละประเทศใช้ระบบไม่เหมือนกัน หากนำทีวี หรือ อุปกรณ์อื่น เข้ามาใช้คนละระบบกับของไทย ก็จะใช้ไม่ได้ เช่น ของอเมริกา ใช้ระบบ ATSC , ของญี่ปุ่นใช้ระบบ ISDB-T , ของจีนใช้ระบบ DTMB (แต่ถ้าจะแก้ไข ก็ต้องต่อกล่องแปลงผ่าน SET TOP BOX ในระบบ DVB-T2)

13. ทีวีดิจิตอล สามารถดูผ่าน สมาร์ทโฟน ต่างๆ หรือ แทบเล็ตได้ ขึ้นอยู่กับ App หรือ ฟังก์ชั่นของเครื่องด้วย

14. ทีวีดิจิตอล จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบ free tv แบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธ์การถ่ายทอดสด) และไม่มีปัญหาการรับชม เวลาฝนตก

15. กสทช กำหนด ให้ ทีวีดิจิตอลมี 48 ช่อง โดยที่มีทีวีท้องถิ่นของชุมชน 12 ช่อง ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ทีวีสำหรับภาคธุรกิจ 24 ช่อง โดยใน 24 ช่องนี้ 17 ช่องจะเป็นมาตรฐานปกติ (SD) และอีก 7 ช่องเป็นมาตรฐานความคมชัดสูง (HD)

16. ปีแรกโครงข่ายจะครอบคลุมพื้นที่แค่ 50% เท่านั้น ปีที่ 2 จะครอบคลุม 80% ปีที่ 3 จะครอบคลุม 90%

17. กล่องรับสัญญาณ DVB-T2 ที่จะนำคูปองมาเป็นส่วนลดได้ ต้องได้การรับรองคุณภาพจาก กสทช

18. ทีวีดิจิตอลในระยะเริ่มแรกจะมีปัญหาในการส่งสัญญาณ ดังนั้น ชั่วงแรก อาจรับสัญญาณยังไม่ได้ครอบคลุม ทั่วประเทศ โดยในระยะแรก รับสัญญาณได้เพียงพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 100 กมจาก กรุงเทพฯ

19. ราคากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล เท่าที่มีการคาดการณ์ ในระยะแรก น่าจะไม่เกิน 2,000 บาท และ ราคาจะลดลง เมื่อมีผู้จำหน่ายเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจาก กล่องรับสัญญาณต้องรองรับมาตรฐาณระบบ HD ดังนั้นราคากล่องไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 บาท

20. ทีวีระบบอนาล็อคแบบเก่า คาดว่าจะปิดตัวลงใน 5 ปี หรือเร็วกว่านั้น เนื่องจาก คาดว่าผู้ให้บริการเก่าจะไม่ต้องการส่งทั้ง สองระบบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง และอีกอย่างระบบเก่าคนก็จะดูน้อยลงเรื่อยๆ

*** หากท่านใด ต้องการซื้อทีวีใหม่เช่น Plasma , LCD , LED ขอให้อดใจรอสักนิด เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่จำหน่ายทีวีก็จะนำทีวีระบบเก่ามาลดราคาลงอย่างมาก เพื่อนำระบบใหม่มาจำหน่ายแทน หากท่านไม่สนใจว่าต้องเป็นทีวีระบบใหม่ ท่านก็สามารถซื้อทีวีระบบเก่า และนำมาต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 ได้ เพียงแค่เสียบปลักซ์ไฟเพิ่มอีก 1 เส้นเท่านั้น

ดัดแปลงจาก : http://pantip.com/topic/31441147
กสท.รับรองผลประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง พร้อมให้บริการ 1 เม.ย.
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2557 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้แถลงผลการประชุม กสท.ว่า ที่ประชุมกสท.ได้มีมติรับรองผลการประมูลทีวีดิจิตอล ทั้ง 4 หมวดหมู่ 24 ใบอนุญาต ซึ่งมีผู้ชนะการประมูลรวม 17 ราย ทั้งนี้จะมีการประกาศรับรองผลการประมูลในเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. และส่งหนังสือแจ้งผลการประมูลอย่างเป็นทางการแก่ผู้ชนะการประมูลภายใน 3 วัน เพื่อผู้ชนะการประมูลจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของสำนักงาน กสทช.ต่อไป โดยการรับรองการประมูลในวันนี้ถือเป็นการสิ้นสุด Silent Period ตามประกาศของ กสทช.และทาง กสท.จะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ในครั้งต่อไป

พ.อ.นที ยังกล่าวว่า ที่ประชุม กสท.ได้เห็นชอบแผนการดำเนินการติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิตอลในปีแรก จำนวน 17 จังหวัด ประกอบด้วย

- กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, เชียงใหม่, สงขลา มีกำหนดการให้บริการ 1 เม.ย.2557

- อุบลราชธานี, สุราษฎร์ธานี, ระยอง มีกำหนดการให้บริการ 1 พ.ค.2557

- สิงห์บุรี, สุโขทัย, สุโขทัย, ขอนแก่น, อุดรธานี มีกำหนดการให้บริการ 1 มิ.ย.2557

สำหรับรายชื่อผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอล ประกอบด้วย 1.ช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) 7 ใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด

2.ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) 7 ใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด และบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด

3.ช่องข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด บริษัท ไทยทีวี จำกัด บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค(ทีเอ็นเอ็น) จำกัด บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด และบริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด

และ 4.ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไทยทีวี จำกัด

แหล่งที่มา : http://news.springnewstv.tv/